ดอกไม้ สายน้ำ และเทพเจ้าฮินดู เมื่อความเชื่อกลายเป็นส่วนหนึ่งกับ ธรรมชาติและชาวบาหลีอย่างกลมกลืน

หน้าแรก ย้อนกลับ ดอกไม้ สายน้ำ และเทพเจ้าฮินดู เมื่อความเชื่อกลายเป็นส่วนหนึ่งกับ ธรรมชาติและชาวบาหลีอย่างกลมกลืน

ดอกไม้ สายน้ำ และเทพเจ้าฮินดู เมื่อความเชื่อกลายเป็นส่วนหนึ่งกับ ธรรมชาติและชาวบาหลีอย่างกลมกลืน

ที่มา https://pixabay.com/th/

 

ดอกไม้ สายน้ำ และเทพเจ้าฮินดู เมื่อความเชื่อกลายเป็นส่วนหนึ่งกับ
ธรรมชาติและชาวบาหลีอย่างกลมกลืน

          “บาหลี” ดินแดนแห่งมนต์ขลังหนึ่งเดียวในอินโดนีเซียที่ยังคงความเชื่อความศรัทธาในศาสนาพราหมณ์ฮินดู แม้ในอดีตบาหลีจะอยู่ท่ามกลางอิทธิพลจากชาติยุโรปและการเปลี่ยนแปลงไปของยุคสมัยในปัจจุบัน ทว่าสิ่งเหล่านี้กลับไม่สามารถลบล้างความเชื่อดั้งเดิมที่ไหลเวียนอยู่ในตัวของพวกเขาให้เลือนหายไปได้ ธรรมชาติอันงดงามยังคงเชื่อมโยงจิตวิญญาณของชาวบาหลีเอาไว้อย่างมั่นคง และไม่มีสิ่งใดทำลายเสน่ห์อันน่าหลงใหลนี้ไปได้

          จากดอกไม้สู่ความเชื่อซึ่งเกี่ยวพันถึงเทพเจ้าฮินดู

          วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบาหลีผูกพันอยู่กับธรรมชาติมานานนับพันปี ผู้คนล้วนพึ่งพาและเคารพการมีอยู่ของธรรมชาติโดยวิธีการต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือการทำให้ธรรมชาติเป็นสะพานเชื่อมพวกเขาไปสู่เทพเจ้าโดยภายในเกาะบาหลีมีเครื่องบูชามากมายที่ทำจากองค์ประกอบจากธรรมชาติ ในที่นี้คือ “ชานัง ซารี” (Canang Sari) เครื่องบูชาซึ่งใช้วัสดุธรรมชาติ คือดอกไม้และใบตองในการทำกระทงเล็ก ๆ สำหรับการบูชาเทพเจ้าฮินดู ปีศาจ หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ซึ่งมีความหมายตามภาพด้านล่างดังต่อไปนี้

ภาพชานังซารีและความหมายของดอกไม้แต่ละชนิด

ที่มา https://pixabay.com/th/

 

          ภายในชานังซารีมีดอกไม้ทั้งหมด 5 สี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เพื่อบูชา 5 เทพเจ้า ได้แก่ สีเขียว สีม่วง สีแดง สีเหลือง และสีชมพู โดยมีความเชื่อว่าดอกไม้สีเขียวบูชาพระศิวะ ดอกไม้สีม่วงบูชาพระวิษณุ ดอกไม้สีแดงบูชาพระพรหม ดอกไม้สีเหลืองบูชาพระมหาเทวา และดอกไม้สีชมพูบูชาพระอิศวร ชาวบาหลีเชื่อกันว่าชานังซารีสามารถเสริมสร้างความมั่นคงให้จิตใจ ขอพรให้เทพเจ้าปกปักรักษาในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงสร้างความสุขและความอุดมสมบูรณ์ในชีวิต ตามที่ ยโสธารา ศิริประภากรและคณะ (2563, น. 99) กล่าวถึงเอาไว้ว่า ชานังซารีมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับจิตใจ จิตวิญญาณ รวมไปถึงเพื่อขอพรให้เทพเจ้าคุ้มครองและปกปักรักษา โดยชานังซารีสามารถพบเห็นได้ทุกที่ในเกาะบาหลี เนื่องจากชาวบาหลีจะไหว้เทพเจ้าทุกวันเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณวัด กำแพงบ้าน หรือแม้แต่บนรถ เราสามารถพบเห็นชานังซารีได้แทบทุกพื้นที่ ดังนั้นชานังซารีจึงถือเป็นสัญลักษณ์ของเกาะบาหลี อีกทั้งยังสะท้อนถึงความเชื่อซึ่งซึมซาบอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขาอย่างกลมกลืนด้วย

 

          สายน้ำและความเชื่อที่ไหลแล่นอยู่ในร่างกายชาวบาหลี

          สายน้ำเป็นสัญลักษณ์ของความสงบร่มเย็น และเป็นการเชื่อมโยงระหว่างผู้ศรัทธากับเทพเจ้าได้เป็นอย่างดี
จึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าตามสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ หรือในศาสนสถานของชาวบาหลีล้วนมีสายน้ำเป็นส่วนหนึ่งเสมอ เหตุเพราะสายน้ำถือเป็นสิ่งสำคัญต่อจิตวิญญาณของชาวบาหลีที่ถูกสร้างโดยธรรมชาติ ดังที่ BVLGARI Resort Bali (2023, ออนไลน์) ระบุเอาไว้ว่า พระแม่ดานู (Dewi Danu) หรือเทพีแห่งสายน้ำ ช่วยเหลือวัดอูลูนดานูบราตัน (Ulun Danu Beratan Temple) เอาไว้จากสภาวะแห้งแล้งของการเกษตรนาข้าว ทำให้ผู้คนในเกาะบาหลีนับถือพระแม่ดานูว่าเป็นพระแม่แห่งสายน้ำและความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นเมื่อผนวกกับความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าฮินดูรวมไปถึงตำนานท้องถิ่นแล้ว สายน้ำจึงกลายเป็นสื่อกลางและพรอันมีค่าที่ชาวบาหลีกราบไหว้นับถือ ทำให้เกาะบาหลีในหลายพื้นที่มีวัดซึ่งมีความเชื่อเกี่ยวข้องกับสายน้ำเป็นส่วนใหญ่ เช่น วัดกัวกาจาห์ หรือวัดถ้ำช้างซึ่งมีความเชื่อว่าหากใครได้ดื่มน้ำหรือชำระร่างกายที่นี่จะมีลูกสมปรารถนา วัดน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ (Pura Tirta Empul) ซึ่งมีบ่อน้ำพุโบราณจากภูเขาไฟ มีความเชื่อว่าใครได้อาบน้ำในบ่อน้ำพุจะช่วยไล่สิ่งไม่ดีออกไป รวมไปถึงรักษาโรคได้

          ทั้งหมดทั้งมวลนี้สะท้อนอย่างชัดเจนแล้วว่าธรรมชาติไม่เพียงถูกพึ่งพาในแง่ของทรัพยากรและความต้องการต่อการบริโภคในสายตาคนทั่วไปเท่านั้น แต่สำหรับชาวบาหลีแล้ว ‘ธรรมชาติคือชีวิต’ เพราะลม ฝน ดอกไม้ และสายน้ำคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตและหล่อเลี้ยงหัวใจที่เคารพนบนอบต่อเทพเจ้าด้วยความบริสุทธิ์ ดังนั้นดินแดนซึ่งเต็มไปด้วยความงดงามของธรรมชาติและรากความเชื่อที่ยืนยงมามากว่าพันปีนี้จึงยังคงกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตชาวบาหลีต่อไป

 

ยโสธารา ศิริปาภากร พระมหาโชตนิพิฐพนธ์ สุทฺธจิตฺโต พระครูโสภณธรรมภิมณฑ์ ปัญวลี เสริมทรัพย์ และสุริยา คลังฤทธิ์. (2563). Canang Sary สัญลักษณ์ในการเคารพและบูชาของชาวบาหลี เมืองเดนปาซาร์ ประเทศ อินโดนีเซีย. ใน การประชุมวิชาการระดับชาติ มหาจุฬาฯ สุรินทร์ ครั้งที่ 1 “พุทธบูรณาการ อารยธรรมวนัมฎองแหรก สู่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน” วันที่ 3 เมษายน 2563 หน้า 98-107. สุรินทร์: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์. https://shorturl.asia/2A7hi

Moon. (2563). วัดน้ำพุศักดิ์สิทธิ์แห่งเกาะบาหลี. สืบค้นจาก https://travel.trueid.net/detail/BKpGG
zPlyBY0

BVLGARI RESORT BALI. (2023). Dewi Danu and Dewi Sri: The goddesses of earth and fertility. From bulgarihotels.com/fr_FR/bali/whats-on/article/bali/in-the-city/Dewi-Danu-and-Dewi-Sri--the-Goddesses-of-Earth-and-Fertility

แชร์ 74 ผู้ชม

คติความเชื่อ

องค์ความรู้